สรุปแบบสั้นๆ คือ “ไม่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว”
การชาร์จไร้สาย
ระบบชาร์จไฟแบบไร้สาย (Wireless Charging) มีมาได้ซักพักแล้ว โดยในช่วงแรกอาจพบปัญหาชาร์จช้าบ้าง แต่ในปัจจุบันก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เกือบจะเทียบเท่ากับชาร์จแบบมีสายแล้ว (แต่ก็ยังไม่เร็วเท่าชาร์จแบบสายผ่านระบบ Quick Charge นะครับ)
การชาร์จไร้สายเริ่มฮิตขึ้นมากเมื่อทาง Apple ออกมือถือรุ่นใหม่ทีรองรับขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว ผ่านทางมาตรฐาน Qi โดยเริ่มตั้งแต่ iPhone 8 ขึ้นไป ซึ่ง iPhone ทั้งหมดที่รองรับชาร์จไร้สายในปัจจุบันคือ 8, X, XR, XS และ XS Max
การชาร์จไร้สายมีข้อดีเด่นๆ คือไม่ต้องคอยเสียบสายชาร์จ หรือไม่ต้องจัดการสายให้ยุ่งยาก แค่วางมือถือลงบนแท่น ก็ชาร์จได้ทันที แต่ก็เริ่มมีการพูดถึงข้อเสียของมันในด้านการทำให้แบตเตอรี่มือถือเสื่อมเร็วขึ้น ซึ่งจริงหรือไม่ ลองมาดูคำตอบกัน
แบตเตอรี่มือถือทำงานอย่างไร?
มือถือในปัจจุบันนี้ใช้แบตเตอรี่ประเภท ลิเธียม-ไอออน (Lithium-ion) เซลล์ของแบตเตอรี่ประกอบด้วยอีเล็คโทรด (Electrode) 2 ชนิดคือ แคโทด (Cathode) และ แอโนด (Anode) โดยมี ประจุอีเล็คโทรไลต์ (Electrolyte) อยู่ในระหว่าง 2 เซลล์นี้ เมื่อมีการชาร์จไฟ อีเล็คโทรไลต์ จะเดินทางจากขั้วบวกไปขั้วลบ และเมื่อใช้งานก็จะเดินทางจากขั้วลบไปขั้วบวก
ผู้ผลิตแบตเตอรี่จะเป็นคนกำหนดว่าในแต่ละเซลล์จะเก็บพลังงานได้เท่าไหร่และกำหนดว่าแบตเตอรี่จะให้พลังงานเราใช้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งในระหว่างการชาร์จแบตเตอรี่ อุปกรณ์จะถูกกำหนดแรงดันไฟ (Voltage) เอาไว้ว่าจะรับแรงดันไฟได้ไม่เกินเท่า หรือห้ามต่ำกว่าเท่าไหร่ โดยค่าตรงนี้จะถูกกำหนดมาตายตัวโดยผู้ผลิตอุปกรณ์ ถ้าใช้งานตามปกตินี้ แบตเตอรี่จะมีรอบการชาร์จ (Cycle) ได้มากกว่าหนึ่งพันรอบเลยทีเดียว
และด้วยข้อกำหนดตรงนี้เอง จึงเป็นไปไม่ได้ที่การเสียบชาร์จหรือวางบนแท่นชาร์จไร้สายทิ้งไว้ทั้งคืนจะทำอันตรายต่อแบตเตอรี่
รอบการชาร์จของแบตเตอรี่?
แบตเตอรี่แต่ละก้อนก็จะมีมาตรฐานที่ต่างกันออกไป แต่เมื่อใช้งานไปถึงจุดที่รอบการชาร์จสูงถึงระดับนึง แบตเตอรี่ก็จะเริ่มเสื่อมสภาพลง โดยปกติแบตเตอรี่ก้อนนึงเมื่อมีรอบการชาร์จถึง 500 รอบ ก็จะยังสามารถเก็บไฟได้มากถึง 80% ของความจุเต็มๆ
1 รอบการชาร์จนับจากการที่ชาร์จแบตเตอรี่รวมครบ 100% 1 รอบ เช่น ใช้งานไปจนเหลือ 70% แล้วชาร์จอีก 30% จนเต็มจะนับเป็น 0.3 รอบ ต่อมาใช้งานไปจนเหลือ 20% แล้วชาร์จอีก 80% จนเต็มจะนับ 0.8 รอบ รวมสองครั้งเป็น 1.1 รอบ
ข้อเสียของการชาร์จไร้สายที่เป็นที่พูดถึงกันมากที่สุดคือ มีการตั้งข้อสังเกตในบทความของ ZDNet กันว่าเมื่อชาร์จแบบมีสาย แบตเตอรี่จะได้พักระหว่างชาร์จ แต่ถ้าชาร์จแบบไร้สาย แบตจะชาร์จตลอดเวลา ทำให้รอบการชาร์จเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลให้แบตเสื่อมไวกว่าการชาร์จแบบมีสาย แต่จะจริงหรือไม่?
“แบตเตอรี่จะไม่ถูกใช้งานขณะชาร์จแบบไร้สาย มันเป็นการเข้าใจผิด” กล่าวโดยนาย Menno Treffers ประธาน Wireless Power Consortium (WPC)
ดังนั้นวิธีที่ถูกต้องหากต้องการลดรอบการชาร์จแบตเตอรี่จริงๆ ก็คือการใช้พลังงานให้น้อยลง เช่น ลดการทำงานของแอพที่ทำงานเบื้องหลัง หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่สัญญาณมือถือไม่ดี
ตรวจสอบความร้อน
ประสิทธิภาพของแบตเตอรี่นั้นจะเสื่อมด้วย 3 ปัจจัยคือ เวลา, อุณหภูมิ และแรงดันไฟ ซึ่งจาก 3 ปัจจัยนี้ เราไม่สามารถหยุดเวลาได้ และแรงดันไฟก็ถูกตั้งโดยผู้ผลิตมือถือ ดังนั้นสิ่งที่เราพอจะควบคุมได้ก็เหลือแค่อุณหภูมิ
การใช้งานเครื่องชาร์จไร้สายที่ได้มาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องเลือกใช้อันที่ผ่านการทดสอบจาก Qi-certified แล้วเท่านั้น หากใช้อันที่ไม่ผ่านการทดสอบอาจพบปัญหาเรื่องความร้อนที่สูงขณะชาร์จ ส่งผลให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วกว่าที่ควรได้ (ชาร์จแบบมีสายก็เกิดความร้อนได้เช่นกัน ต้องหมั่นระวังให้ดี)
นอกจากนี้การใช้งานกลางแดด หรือเล่นเกมที่กราฟฟิคโหดๆ ขณะชาร์จแบต ก็ส่งผลให้แบตเตอรี่เสื่อมไวเช่นกัน
ข้อความระวังในการชาร์จ
การชาร์จแบตเตอรี่ มีข้อควรระวังเพื่อการรักษาอายุแบตให้ยาวนาน คืออย่าพยายามให้แบตเตอรี่เหลือน้อยหรือหมดบ่อยๆ เพราะการชาร์จไฟขณะแบตเหลือน้อยมาก จะทำให้แบตเตอรี่ต้องการประจุไฟมากเป็นพิเศษ และส่งผลให้รอบการชาร์จเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ถ้าให้ดีคือไม่ควรปล่อยให้แบตลดเกิน 50% ควรจะชาร์จเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส แต่การชาร์จทิ้งไว้ให้เต็มตลอดโดยไม่ถอดปลั๊กเลย ก็จะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วเช่นกันเพราะทำให้ประจุไม่เดิน
วิธีการที่ดีคือใช้ๆ ชาร์จๆ ตามสะดวก ไม่ต้องให้แบตเหลือน้อยบ่อยๆ หรือเต็มทิ้งไว้เป็นวันๆ (ทางสายกลาง)
นอกจากนี้คุณภาพของแบตเตอรี่ก็เป็นสิ่งสำคัญ หากได้แบตเตอรี่ที่ผลิตด้วยวัสดุคุณภาพไม่ดี อายุของแบตเตอรี่ก็จะสั้นกว่าแบตเตอรี่ที่คุณภาพดี หรือเรียกสั้นๆ ว่า “คุณภาพตามราคา” ก็ว่าได้
สรุป
การชาร์จไร้สาย ไม่ส่งผลให้แบตเตอรี่เสื่อมไว ปัจจัยที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมไวเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น การใช้จนแบตหมดบ่อย หรือทำให้เครื่องร้อนบ่อยๆ นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก Digital Trends